top of page

ศิลปะ และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทรัพย์สินทางปัญญา

อัปเดตเมื่อ 5 มี.ค.

ในยุค 2023 - 2024 เทคโนโลยีพัฒนาล้ำจนเข้าสู่ยุคของ ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ Artificial Intelligence หรือเรียกย่อ ๆ ว่า AI เข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงานของผู้คนด้วยประโยชน์ทั้งความรวดเร็ว ความง่าย และการประหยัดต้นทุน ต่าง ๆ กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการทดแทนบุคคลากรได้เป็นอย่างดี ทั้งการใช้ในการเขียนคอนเทนท์ เขียนหนังสือ เขียนข้อมูลการตลาด สร้างรูปภาพ ตัดต่อวิดิโอ หรือกระทั่งเป็นทีมเขียนโปรแกรมให้ก็ยังได้


AI ปัญญาประดิษฐ์ กับ ทรัพย์สินทางปัญญา

แต่ปัจจุบันก็เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างว่าการสร้างสรรค์ผลงานทีเกิดจาก AI ใครมีสิทธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพหรือผลงานดังกล่าว ซึ่งเมื่อดูที่ข้อกฎหมาย พ.ร.บ ลิขสิทธิ์แล้วกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่จะสร้างสรรค์ผลงานได้นั้นจะต้องเป็นมีสภาพเป็น “บุคคล” ดังนั้นการที่ AI ได้รังสรรค์ภาพออกมาแม้เกิดจากการ Prompt (การป้อนคำสั่ง) ของมนุษย์แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่าคนที่ป้อนคำสั่งให้ AI ทำงานนั้นได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากพอหรือไม่ เพราะการทำงานของ AI คือการนำภาพจากศิลปินหลายๆ ท่านที่มีปรากฎอยู่ในปัจจุบันมารวมเพื่อให้เกิดเป็นภาพใหม่ แต่การสร้างสรรคที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นจะต้องมีจากการใช้ความรู้ ความสามารถ ของบุคคลที่ได้คิดค้นขึ้นมาจึงจะเป็นลิขสิทธิ์ของบุคคลนั้นๆ 


สำหรับในสหรัฐอเมริกาก็ได้มีความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (USCO) ได้มีการเผยแพร่ Guidance on copyright registration involving media crafted by artificial intelligence หรือ แนวทางการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของ AI ซึ่งมีการกำหนดไว้ว่า งานที่สร้างสรรค์โดย AI "ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ และหากงานลิขสิทธิ์ใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และ AI ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย” ดังนั้น เมื่อพิจารณาแนวทางของสหรัฐอเมริกาจะคุ้มครองการสร้างสรรค์ของบุคคล เป็นหลัก ในเมื่อ AI ไม่ใช่บุคคล และ AI มิได้สร้างงานขึ้นมาด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง งานนั้นจึงไม่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์” ในขณะที่ศาลแห่งประเทศจีนได้มีคำพิพากษาที่มีความเห็นต่างจากสหรัฐอเมริกา โดยให้การสนับสนุนผลงานที่เกิดจาก AI 


AI ปัญญาประดิษฐ์  คดี ศาล

สำหรับกรณีของ“หลี่-หลิว” จากการที่“หลี่” ใช้โปรแกรม Stable Diffusion สร้างภาพ “หญิงสาวชาวเอเชีย” และโพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย บล็อกเกอร์ชื่อ “หลิว” ได้นำภาพนั้นไปโพสต์ในบล็อกของตน โดยมีการตัดลายน้ำออก ทำให้เสมือนว่าภาพนั้นคือต้นฉบับของตนเอง “หลี่” จึงฟ้อง “หลิว” ในข้อหาใช้ภาพที่ตนสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแห่งประเทศจีนได้มีความเห็นว่า หลี่ได้สร้างคำสั่งให้ระบบอย่างต่อเนื่อง และปรับพารามิเตอร์ซ้ำ ๆ เพื่อให้ได้ภาพหญิงสาวในรูปแบบที่เขาต้องการ สิ่งนี้สะท้อนถึง “ทางเลือกด้านสุนทรีย์และการตัดสินส่วนบุคคล”  และได้สั่งให้ “หลิว” ออกมาขอโทษต่อสาธารณะชน พร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย 500 หยวน ทางด้าน“จู เกอ” หัวหน้าผู้พิพากษาในคดีนี้ ได้ให้ความเห็นว่า การกำหนดสถานะทางกฎหมายให้กับเนื้อหา AI ในกรณีนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนสร้างสรรค์ผลงานด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น


ดังนั้นในเมื่อยังเป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากว่าคอนเทนท์ หรือภาพจาก AI มีทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ ในฐานะผู้ใช้งานเองก็ควรตระหนักเรื่องการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเช่นเดียว ไม่เช่นนั้นท่านอาจเป็นเคสตัวอย่างของประเทศไทยก็เป็นได้

bottom of page