top of page

ทำอย่างไรดี เมื่อถูกฟ้อง ต้องขึ้นศาล หรือมีหมายเรียก

เป็นธรรมดาที่เราจะตกใจกังวล เมื่ออยู่ดี ๆ วันนึงก็มีหมายศาลมาติดหน้าบ้าน หรือบางครั้งถูกเรียกตัวไป สน. หรือ สภ. ถ้าโดนทำอย่างนั้นต้องทำอย่างไรดีวันนี้เรามีขั้นตอนดี ๆ ในการรับมือเรื่องไม่คาดฝันที่ใครก็ไม่อยากคิดถึง

เมื่อถูกเรียกไปศาล

เริ่มจากขั้นตอนแรก : ตั้งสติ แล้วอ่านเนื้อหาของหมายนั้น ๆ ว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร และเกี่ยวกับเราไหม หลายครั้งมีการติดผิดบ้าน หรืออาจเป็นเจ้าของบ้านเดิมก็เป็นได้ หากเมื่ออ่านแล้วเกี่ยวกับเราก็ทำขั้นตอนที่ 2


ขั้นตอนที่ 2 : อ่านรายละเอียดและแยกประเภทของหมาย

เราต้องตั้งใจอ่านโดยเฉพาะในส่วนของเรื่องและหัวข้อว่าเป็นลักษณะการเรียกประเภทไหน

  1. หมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หรือหมายเรียกคดีแพ่งสามัญ สำหรับหมายชนิดนี้ จะถูกส่งไปยังผู้รับหมายพร้อมกับสำเนาคำฟ้อง หากได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว จะต้องทำคำให้การยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด สำหรับในส่วนหมายเรียกอันเกี่ยวกับคดีแพ่งนั้น หากจำเลยมิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในกำหนด จะหมดสิทธิในการต่อสู้คดี อันมีผลให้แพ้คดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ โดยศาลจะตัดสินคดีโจทก์ไปผ่ายเดียว และจะมีคำพิพากษาและโจทก์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป

  2. หมายเรียกคดีมโนสาเร่, หมายเรียกคดีไม่มีข้อยุ่งยาก, หมายเรียกจำเลยในคดีผู้บริโภค หากท่านได้รับหมายเรียกดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ท่านมีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การและมาศาลตามวันนัดที่ได้ระบุไว้ในหมายเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน และหากจำเลยมีความประสงค์จะต่อสู้คดีก็จะต้องให้การแก้คดีภายในวันนัดที่ระบุในหมาย ซึ่งถือเป็นวันนัดพิจารณาครั้งแรกด้วย หากจำเลยไม่ไปศาลในวันพิจารณา ศาลอาจถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หรือขาดนัดพิจารณา แล้วแต่กรณี ซึ่งจะมีผลทำให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลจะตัดสินคดีโจทก์ไปผ่ายเดียว และจะมีคำพิพากษาและบังคับคดีต่อไป ดังนั้น หากได้รับหมายศาลดังกล่าวแล้ว ควรจะรีบติดต่อทนายความเพื่อช่วยดูแลคดี และทำคำให้การต่อสู้คดี ให้ทันตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

  3. หมายนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา เมื่อได้รับหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วดูรายละเอียดในหมายว่า ศาลได้กำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันใด และคำฟ้องมีสาระสำคัญคืออะไร ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากจำเลยประสงค์จะขอประนีประนอมกับโจทก์ ก็สามารถเจรจากันได้ซึ่งหากโจทก์ยินยอมตามที่ตกลงกัน และยินยอมถอนฟ้องคดีก็เป็นอันจบไป ในคดีอาญาที่ไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง ตามกฎหมายศาลจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ หากมีมูลศาลก็จะประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป ถ้าศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องของ โจทก์ หากได้รับหมายนัดจึงต้องดูรายละเอียดว่าศาลกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันใด และควรรีบนำสำเนาคำฟ้องข้อเท็จจริงในคดี พร้อมพยานหลักฐานปรึกษาทนายความทันที เพื่อให้ทนายความทำการถามค้านพยานโจทก์ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง หากคดีไม่มีมูลศาลจะยกฟ้อง โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยไม่จำเป็นต้องไปศาล เนื่องจากหากไปศาลในวันดังกล่าว และศาลได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ศาลก็จะประทับฟ้อง จำเลยจะตกเป็นจำเลยและถูกควบคุมตัว ซึ่งจะต้องมีการยื่นหลักทรัพย์เพื่อประกันตัวต่อไป


สิ่งสำคัญในตัวหมายว่าเป็นหมายจริง และถูกต้องหรือไม่คือ...

  1. หมายเลขคดี

  2. ศาลที่ถูกฟ้องคือที่ไหน เพราะเนื่องจากประเทศไทยมีศาลยิบย่อยหลายที่ และเพื่อให้เดินทางไปถูกศาล

  3. ประเด็นที่โจทก์ฟ้อง

  4. โจทก์ฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะหากโจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในระยะเวลาที่กำหนดย่อมถือว่าคดีนั้นพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายมาแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล

  5. ได้รับหมายแล้วต้องยื่นคำให้การภายในกี่วัน


โดยประเภทของหมายศาลที่พบบ่อย ได้แก่

  1. พ. หมายถึง คดีแพ่งสามัญ ซึ่งจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับจากวันที่รับหมาย

  2. ผบ.หมายถึง คดีผู้บริโภค สามารถไปยื่นคำให้การภายในวันนัดได้เลย

  3. ม.หมายถึง คดีมโนสาเร่ สามารถไปยื่นคำให้การภายในวันนัดได้เลยเช่นเดียวกัน


ธรรมดาแล้วในคดีประเภทแพ่งสามัญ หรือสังเกตุง่ายๆคือคดีที่มีคำนำหน้า หมายเลขดำว่า (พ.) เช่นคดีฟ้องชู้ ฟ้องหย่า ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ผิดสัญญาซื้อขาย นั้นจำเลยจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ซึ่งจะมีการเขียนข้อความว่าอย่างชัดเจนในหมายเลขนั้นอยู่แล้วว่าเราจะต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน แต่ถ้าเป็นคดีประเภทอื่น เช่น

  • คดีผู้บริโภค (ผบ.) เช่นคดีเช่าซื้อ คดีบัตรเครดิต คดีสินเชื่อสถาบันการเงิน

  • คดีมโนสาเร่หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยาก (ม.) คดีกู้ยืม คดีค้ำประกัน คดีฟ้องขับไล่ที่ทุนทรัพย์ไม่สูง

  • คดีแรงงาน (รง.) เช่นคดีเรียกค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

  • คดีประเภทนี้จำเลยสามารถไปยื่นคำให้การในวันนัดขึ้นศาลนัดแรกได้เลย ซึ่งในหมายเรียกจะมีการระบุว่าให้จำเลยไปศาลเพื่อทำการ ไกล่เกลี่ย/ให้การ/สืบพยาน ในวันเดียวกัน ไม่อยู่ในกำหนดยื่นคำให้การภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหมาย


ทำไมถึงควรไปศาล ?

การไปศาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเอง หากจำเลยไม่ไปศาล เท่ากับเสียสิทธิในการต่อสู้และหมดโอกาสที่จะสู้หรือแก้ต่างกับศาล ซึ่งทำให้ศาลจำเป็นต้องพิพากษาฝ่ายเดียวตามคำฟ้องและเหตุผลของโจทก์เพียงด้านเดียว โดยที่ฝ่ายจำเลยไม่ได้มีโอกาสชี้แจงอย่างไม่มีทางเลือก

หากเป็นกรณีที่มาทราบทีหลังว่าถูกฟ้อง และศาลพิพากษาให้แพ้คดีไปแล้วต้องทำอย่างไร


ถ้าปรากฏว่าเราเพิ่งมาทราบว่าถูกฟ้อง โดยที่ผ่านมาไม่เคยทราบมาก่อน อาจจะเป็นเพราะที่อยู่ตามทะเบียนบ้านไม่ตรงกับที่อยู่จริง หรือได้เดินทางออกไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หรือมีคนอื่นเป็นคนรับหมายแล้วไม่ได้แจ้งให้เราทราบ หรือเพราะสาเหตุใดก็ตาม หากทราบภายหลังว่าถูกฟ้องคดีเมื่อเลยกำหนดยื่นคำให้การแล้ว หรือเมื่อศาลพิพากษาให้แพ้คดีไปแล้ว อาจมีคำร้องขอให้ศาล เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ การขออนุญาตยื่นคำให้การ การขอพิจารณาคดีใหม่ หรือการอุธรณ์คัดค้านคำพิพากษา เป็นต้น


การไปศาลเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของท่านที่มีตามพรบ. ท่านควรใช้สิทธินั้นเพื่อรักษาสิทธิอื่น ๆ ของท่านเสมอ หากท่านกังวลในการจัดการงานศาลท่านสามารถติดต่อทนายจาก Epsilon เป็นเพื่อนคู่คิดท่านเมื่อไปศาลได้

ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page